การจัดการเรียนการสอน การประเมินผล และการสอบออนไลน์

คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ทำให้เกิดการปรับตัวเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) โดยเฉพาะสถาบันทางการศึกษาที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติได้ จำเป็นต้องใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อให้การเรียนรู้เกิดความต่อเนื่อง การเรียนการสอนแบบออนไลน์มีองค์ประกอบ ได้แก่ ผู้สอน ผู้เรียน เนื้อหา สื่อการเรียนและแหล่งเรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนรู้ ระบบการติดต่อสื่อสาร ระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ การวัดและการประเมินผล (วิทยา วาโย, อภิรดี เจริญนุกูล, ฉัตรสุดา กานกายันต์, และ จรรยา คนใหญ่, 2563)
คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ เป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลที่ผลิตบัณฑิตให้เป็นบุคคลที่มีวิชาการก้าวหน้า รู้จักพัฒนา คุณธรรมนำใจ รับใช้สังคม ยึดหลักสัจจะ-บริการด้วยน้ำใจไมล์ที่สอง โดยดำเนินการตามภารกิจหลัก 4 ด้าน คือ การเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น
การเรียนการสอนเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของสถาบันระดับอุดมศึกษา ซึ่งคณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิคได้ดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตบัณฑิตให้กับคณาจารย์ของคณะมาอย่างต่อเนื่องด้วยรูปแบบการพัฒนาที่หลากหลาย โดยการจัดการความรู้เป็นรูปแบบหนึ่งที่ค้นหาแนวปฏิบัติที่ดีจากความรู้ทั้งที่มีอยู่ในตัวบุคคล ทักษะของผู้มีประสบการณ์ตรง และแหล่งเรียนรู้อื่นตามประเด็นความรู้ มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เผยแพร่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร นำไปปรับใช้ในการปฏิบัติจริง ทั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่พัฒนาคณะไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้
คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิคมีแนวทางในการกำหนดขอบเขตของการจัดการความรู้ ดังนี้
1. เป็นความรู้ที่สอดคล้องกับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการประจำปีมหาวิทยาลัยพายัพ ปีการศึกษา 2563 ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาหลักสูตรและนวัตกรรมการเรียนการสอนให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการและวิชาชีพ เป้าประสงค์ที่ 1.2 เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน กลยุทธ์ 1.2.2 ส่งเสริมและพัฒนาให้อาจารย์มีทักษะการใช้นวัตกรรมในการสอน ตัวชี้วัดแผนกลยุทธ์ 1.2.1 ร้อยละหลักสูตรที่มีการใช้นวัตกรรมในการเรียนการสอน ตัวชี้วัดแผนปฏิบัติการระดับมหาวิทยาลัย 6 ร้อยละของอาจารย์ที่ใช้นวัตกรรมในการสอน และประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและสังคม หรือนำไปสู่การสืบสาน สร้างความรู้ความเข้าใจในศิลปวัฒนธรรม โดยการบูรณาการการเรียนการสอน งานวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เป้าประสงค์ที่ 2.1 เพื่อส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยที่หลากหลาย งานวิจัยเชิงสหวิทยาการ และงานวิจัยที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม กลยุทธ์ 2.2.1 ส่งเสริมการผลิตผลงานทางวิชาการที่หลากหลาย งานวิจัยเชิงสหวิทยาการ หรือผลงานนวัตกรรม ตัวชี้วัดแผนกลยุทธ์ 2.1.1 จำนวนผลงานทางวิชาการ ตัวชี้วัดแผนปฏิบัติการระดับมหาวิทยาลัย 15 จำนวนผลงานทางวิชาการ
2. เป็นความรู้ที่สอดรับกับเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายในระดับคณะวิชา ได้แก่ ตัวบ่งชี้ที่ 5.1 การบริหารของคณะเพื่อการกำกับติดตามผลลัพธ์ตามพันธกิจ กลุ่มสถาบันและเอกลักษณ์ของคณะ ข้อ 5 ค้นหาแนวปฏิบัติที่ดีจากความรู้ทั้งที่มีอยู่ในตัวบุคคล ทักษะของผู้มีประสบการณ์ตรง และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ตามประเด็นความรู้ อย่างน้อยครอบคลุมพันธกิจด้านการผลิตบัณฑิตและด้านการวิจัย จัดเก็บอย่างเป็นระบบโดยเผยแพร่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร และนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานจริง
3. เป็นความรู้ที่สำคัญต่อองค์กร เป็นความต้องการของคณาจารย์ส่วนใหญ่ของคณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค เนื่องจากเป็นปัญหาขององค์กรที่ประสบอยู่ และสามารถนำกระบวนการจัดการความรู้มาช่วยแก้ปัญหาได้ โดยปีการศึกษา 2563 พบว่าคณาจารย์มีความต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพตนเองและการจัดการ
14
ความรู้ด้านการผลิตบัณฑิตเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน การประเมินผล และการสอบออนไลน์ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติได้ จำเป็นต้องใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์
คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิคตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของคณาจารย์ จึงได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตบัณฑิต และการจัดการความรู้ เพื่อ
1) ให้คณาจารย์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดเรียนการสอน การประเมินผล และการสอบออนไลน์ ตามประเด็นความต้องการพัฒนาศักยภาพและการจัดการความรู้
2) พัฒนาศักยภาพด้านการผลิตบัณฑิต สอดรับกับแผนพัฒนาบุคลากรของคณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค
3) ดำเนินการด้านการจัดการความรู้ตามแผนปฏิบัติการประจำปีของมหาวิทยาลัยพายัพ และตามเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายในระดับคณะวิชา

Tags: No tags

Comments are closed.