คณะกรรมการการจัดการความรู้ คณะมนุษยศาสตร์และนิเทศศาสตร์
ในปีการศึกษา 2563 คณะกรรมการจัดการความรู้ คณะมนุษยศาสตร์และนิเทศศาสตร์ได้ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดหัวข้อตามความต้องการของคณาจารย์ในคณะฯ จากนั้นได้สำรวจความต้องการพัฒนาตนเองด้านการผลิตบัณฑิตของคณาจารย์ในคณะฯ ผ่านระบบ Google Form พบว่า หัวข้อ“การบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน : การฝึกประสบการณ์วิชาชีพและสหกิจศึกษา”เป็นประเด็นที่ถูกเลือกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 34.5 ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรต่าง ๆ ในคณะวิชา กล่าวคือ เนื่องจากขณะนี้ในหลายหลักสูตรมีรายวิชาเอกบังคับ “ฝึกประสบการณ์และสหกิจศึกษา”มากขึ้น แต่เกิดปัญหาเรื่องบุคลากรที่เคยผ่านการอบรมมีจำนวนไม่มากนัก เหตุด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ทำให้บางสาขาวิชามีบุคลากรที่เคยผ่านการอบรมเพียงหนึ่งท่านเท่านั้น หรือบางสาขาวิชาก็พบว่าตัวแทนบุคลากรที่เคยเข้ารับการอบรมไม่ได้อยู่ปฏิบัติงานในองค์กรแล้ว ทำให้การดึงองค์ความรู้มาใช้ยังไม่เต็มที่เท่าที่ควร รวมทั้งเห็นว่ายังไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรที่สูญเสียไป นอกจากนี้ยังเห็นว่าการจัดการเรียนการสอนรายวิชาเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นที่จะต้องทราบวิธีการ เทคนิคในการบริหารจัดการที่ดีซึ่งจะต้องอาศัยองค์ความรู้และประสบการณ์จากอาจารย์ผู้สอนที่เคยผ่านการอบรมและมีประสบการณ์การสอนมาก่อน
ผนวกกับแนวโน้มของการจัดการศึกษาในปัจจุบันที่มุ่งให้มีการจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน คือการที่สถาบันการศึกษาได้มีการเชื่อมโยงโลกการศึกษากับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน ทำให้ประเทศมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีสมรรถนะสูง สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ ที่เป็นเช่นนั้นก็สืบเนื่องมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564 ) ที่มุ่งวางแผนการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในระยะยาว ซึ่งครอบคลุมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างความมั่นคง มั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศจะต้องมีทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาในระยะยาวที่ชัดเจน ทั้งนี้ได้เน้นให้ “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ในการสร้างความมั่นคงของชาติ พัฒนาคนทุกวัยให้เป็น คนดี คนเก่ง ดังนั้นทุกภาคส่วนในสังคมจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง และสอดรับกับการปฏิรูปประเทศที่มุ่งสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ในอนาคต
ความหมายของคำว่า ทุกภาคส่วนในสังคมจำเป็นต้องร่วมมือกัน ในที่นี้ ก็คือ สถานประกอบการและสถาบันการศึกษา สถานประกอบการมีความสำคัญต่ออุดมศึกษาไทยอย่างยิ่ง ในมิติของประสิทธิภาพนั้น สถานประกอบการจัดเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพที่สุดทั้งในด้านบุคลากร กระบวนการ ทักษะความชำนาญ ทุนและเทคโนโลยี ดังนั้นสถานประกอบการจึงไม่ควรทำหน้าที่เพียงมีบทบาทในด้านอุปสงค์(Demand side) ในฐานะองค์กรผู้ใช้บัณฑิตเท่านั้น แต่สถานประกอบการควรมีบทบาทสำคัญในด้านอุปทาน (Supply side) ได้อีกด้วย โดยมีส่วนสำคัญในกระบวนการผลิตบัณฑิตร่วมกับสถานศึกษา และภาคส่วนอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพบัณฑิตที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ลดเวลาและค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมในการฝึกอบรมแรงงานเมื่อเริ่มทำงานในสถานประกอบการ ส่วนสถาบันการศึกษานั้นก็มีหน้าที่ วางแผนและบริหารจัดการเรียนการสอน เมื่อสถานประกอบการส่งเสริมให้ความร่วมมือกับสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอน และการฝึก ก็จะทำให้บัณฑิตมีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ตรงตามที่ตลาดแรงงานต้องการ
จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้คณะมนุษยศาสตร์และนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนและการผลิตบัณฑิต จึงได้จัด โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบการจัดการความรู้ เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำองค์ความรู้เกี่ยวกับ “การบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน : การฝึกประสบการณ์วิชาชีพและสหกิจศึกษา” ไปประยุกต์ใช้ได้จริง อันจะนำไปสู่การวางแผนและบริหารจัดการการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะของหลักสูตร รวมทั้งอันจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป