การวิจัยเชิงบูรณาการ

คณะกรรมการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลงานวิชาการ และ คณะกรรมการจัดการความรู้ คณะมนุษยศาสตร์และนิเทศศาสตร์

ในปีการศึกษา 2563 นี้ คณะกรรมการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลงานวิชาการฯ ได้ทำการสำรวจความต้องการพัฒนาตนเองด้านการวิจัยและการผลิตผลงานวิชาการของคณาจารย์ในคณะฯ พบว่า การวิจัยเชิงบูรณาการ เป็นประเด็นที่ถูกนำเสนอมากเป็นอันดับหนึ่ง สอดคล้องกับสถานการณ์ในวงการวิชาการของประเทศที่ขับเคลื่อนงานวิจัยในเชิงบูรณาการเช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา หรือพัฒนาสังคมแบบองค์รวมพร้อมกันทุกภาคส่วน

การบูรณาการงานวิจัยมีหลายลักษณะที่น่าสนใจ อาทิ การวิจัยเชิงบูรณาการแบบองค์รวม (Holistically Integrative) การวิจัยเชิงบูรณาการแบบข้ามศาสตร์ (Transdisciplinary Research) หรือการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ นับเป็นการใช้ศาสตร์วิชาความรู้ที่หลากหลาย เพื่อเติมเต็มการทำงานด้านต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ในเชิงปฏิบัติมากขึ้น เช่น การบริการวิชาการ การเรียนการสอน การพัฒนาหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ฯลฯ ประกอบกับมีคณาจารย์หลายท่านในคณะฯ มีประสบการณ์ด้านการวิจัยเชิงบูรณาการ อาทิ ผศ.ดร.นงนภัส พันธุ์พลกฤต ผศ.ดร.สุธิดา พัฒนาศรีวิเชียร อ.ดร.เอลิสา มิเอะ นิชิคิโตะ และ ผศ.จิรภัทร กิตติวรากูล ที่สามารถมาแบ่งปันความรู้ในประเด็นดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลงานวิชาการฯ จึงได้วางแผนและดำเนินการจัดการความรู้ในประเด็น “การวิจัยเชิงบูรณาการ” เพื่อตอบสนองความต้องการพัฒนาตนเองของคณาจารย์ในคณะฯ ด้านการวิจัย

Tags: No tags

Comments are closed.