คณะกรรมการการจัดการความรู้ วิทยาลัยดุริยศิลป์
วิทยาลัยดุริยศิลป์ได้ระบุหัวข้อองค์ความรู้ด้านการเรียนการสอน: การสอนดนตรีในรูปแบบออนไลน์ มาจากคณะกรรมการบริหารวิทยาลัยได้ร่วมกันประชุมกับคณาจารย์วิทยาลัยดุริยศิลป์ทั้งหมด เพื่อร่วมกันเลือกองค์ความรู้จากอาจารย์ที่มีความรู้ความสนใจศึกษาค้นคว้าด้านการใช้แอปพลิเคชันที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนดนตรีแบบออนไลน์ ซึ่งได้แก่ ดร. จักรพันธ์ ชัยยะ เพื่อให้เป็นประธาน ทำให้สามารถเล่าและแบ่งปันประสบการณ์การใช้งานแอปพลิเคชันที่สามารถใช้สอนดนตรีในรูปแบบออนไลน์ได้ และแนะนำวิธีการต่างๆที่น่าสนใจ เพื่อให้อาจารย์ท่านอื่น ๆ ได้นำความรู้มาปรับใช้ในการสอนดนตรีทั้งในวิชาที่เป็นแบบบรรยาย แบบปฏิบัติและแบบบรรยายกึ่งปฏิบัติได้ ในปีการศึกษา 2564 นี้ สถานการณ์โควิดยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่องทำให้อาจารย์ต้องศึกษาและดำเนินการสอนแบบออนไลน์ ถึงแม้ว่าการสอนดนตรีกับการสอนออนไลน์นั้นอาจดูไม่ค่อยเข้ากันนักและไม่ค่อยเหมาะสมนักเนื่องจากดนตรีเน้นการปฏิบัติ และยังมีทักษะของการปฏิบัติที่ยังต้องมีการเล่นตอบโต้อย่างทันทีระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน อีกทั้งยังมีการเล่นแบบรวมวง ซึ่งการสอนออนไลน์อาจไม่ตอบสนองความต้องการของผู้สอน ผู้เรียน และอาจไม่ตอบสนองต่อผลลัพท์การเรียนรู้มากเท่ากับการสอนแบบชั้นเรียน อย่างไรก็ตามเนื่องจากสถานการณ์มีความจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ อาจารย์ที่สอนดนตรีควรศึกษาเทคโนโลยีที่สามารถปรับการเรียนการสอนให้สามารถดำเนินการสอนได้ตามวัตถุประสงค์ของรายวิชาที่ตั้งไว้ใน มคอ.3 ได้ใกล้เคียงมากที่สุด
จากการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ได้จัดขึ้นในปีการศึกษา 2564 นี้ คณาจารย์ทุกท่านที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้เห็นว่าสามารถนำความรู้ไปปรับใช้กับการสอนแบบออนไลน์ในรายวิชาของตนเองได้ไม่มากก็น้อย มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มีการถามคำถามและให้ความรู้ในการสอนดนตรีในรูปแบบต่างๆ ข้อดี ข้อเสียของแอปพลิเคชันต่างๆที่ใช้สอนออนไลน์ เช่น Zoom, Microsoft Teams, Google Classroom, Google Meet นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนการใช้แอปพลิเคชันดนตรี ได้แก่ Flat, Sibelius, Play Score เป็นต้น เพื่อให้การเรียนการสอนดนตรีในช่วงโควิดนี้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของรายวิชาและหลักสูตร และเพื่อก่อประโยชน์สูงสุดให้แก่การเรียนการสอนและผู้เรียน ซึ่งเป็นเป้าประสงค์หลักในการพัฒนาผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จในการเรียนดนตรี