เทคนิคการจัดการเรียนการสอน การวัดและการประเมินผลแบบออนไลน์

คณะกรรมการการจัดการความรู้ คณะมนุษยศาสตร์และนิเทศศาสตร์

ในปีการศึกษา 2564 คณะกรรมการจัดการความรู้ คณะมนุษยศาสตร์และนิเทศศาสตร์ได้ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดหัวข้อตามความต้องการของคณาจารย์ในคณะฯ จากนั้นได้สำรวจความต้องการพัฒนาตนเองด้านการผลิตบัณฑิตของคณาจารย์ในคณะฯ ผ่านระบบ Google Form พบว่า หัวข้อ“เทคนิคการจัดการเรียนการสอน การวัดและการประเมินผลแบบออนไลน์”เป็นประเด็นที่ถูกเลือกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 44.4 ซึ่งหัวข้อดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรต่าง ๆ ในคณะวิชาในปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้รายวิชาต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินการสอนและวัดผลในห้องเรียนได้ตามปกติ รูปแบบการเรียนรู้แบบออนไลน์จึงถูกนำมาใช้แก้ปัญหาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว แม้องค์ความรู้ได้ถูกพัฒนาขึ้นไปอยู่บนระบบออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้เรียน ส่งผลให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้ง่ายขึ้นในทุกที่ทุกเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้สอนได้ให้ความสำคัญคือการพัฒนาการเรียนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพโดยการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบActive Learning เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกับผู้สอนเสมือนว่าเป็นการเรียนในชั้นเรียน อันจะส่งผลให้ผู้เรียนเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์

ทั้งนี้พบว่าเทคนิคและรูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์นั้นมีหลากหลายวิธีที่จะทำให้ผู้สอนและผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ซึ่งผู้สอนต้องเลือกใช้ให้สอดคล้อง เหมาะสมกับลักษณะวิชา และบริบทของผู้เรียนครูผู้สอนในฐานะผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นักศึกษาจึงต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองโดยการปรับตัว และเตรียมทักษะเพื่อรับมือกับแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบใหม่อย่างทันท่วงที และพร้อมรับกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ

จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้คณะมนุษยศาสตร์และนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนและการผลิตบัณฑิต จึงได้จัด โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบการจัดการความรู้ เพื่อให้บุคลากรในคณะวิชาเกิดความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำองค์ความรู้เกี่ยวกับ “เทคนิคการจัดการเรียนการสอน การวัดและการประเมินผลแบบออนไลน์” ไปประยุกต์ใช้ได้จริง อันจะนำไปสู่การวางแผนและบริหารจัดการการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบัน รวมทั้งอันจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

Tags: No tags

Comments are closed.