การจัดการเรียนการสอนเชิงรุก

คณะกรรมการการจัดการความรู้ คณะมนุษยศาสตร์และนิเทศศาสตร์

ในปีการศึกษา 2565 คณะกรรมการจัดการความรู้ คณะมนุษยศาสตร์และนิเทศศาสตร์ได้ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดหัวข้อตามความต้องการของคณาจารย์ในคณะฯ จากนั้นได้สำรวจความต้องการพัฒนาตนเองด้านการผลิตบัณฑิตของคณาจารย์ในคณะฯ ผ่านระบบ Google Form พบว่า หัวข้อ“การจัดการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning)” เป็นประเด็นที่ถูกเลือกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 64.7 (ดังภาพประกอบด้านล่าง) ซึ่งหัวข้อดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน รวมทั้งยังสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในหมวดที่ 4 แนวการจัดการศึกษา ที่เน้นและให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังปรากฏในหลายมาตรา เช่น มาตรา 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ มาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (2) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา (3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน และเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง (4) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วน สมดุลกันรวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา (5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียนและอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภท ต่าง ๆ (6) จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ นอกจากนี้ ในเกณฑ์การประเมินคุณภาพการศึกษาภายในตามรูปแบบ AUN-QA ซึ่งหลักสูตรต่าง ๆ จะต้องนำเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ ยังมีการกำหนดเกณฑ์ Criterion 3 Teaching and Learning Approach ว่าการจัดการเรียนการสอนจะต้องเป็น Active Learning ในทุกรายวิชา
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้คณะมนุษยศาสตร์และนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก จึงได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบการจัดการความรู้ ในหัวข้อ“การจัดการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning)” เพื่อให้บุคลากรในคณะวิชาเกิดความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริง อันจะนำไปสู่การวางแผนและบริหารจัดการการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งอันจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

Tags: No tags

Comments are closed.