การบูรณาการกายวิภาคศาสตร์

สำนักนวัตกรรมการสอนและการศึกษาทั่วไป

แนวทางการเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษา ในการสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม

คณะกรรมการส่งเสริมการจัดการความรู้ คณะเภสัชศาสตร์

สภาเภสัชกรรมได้กำหนดหลักเกณฑ์การสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2560 โดยให้เริ่มใช้กับผู้ที่เข้าเรียนหลักสูตรเภสัชศาสตร์ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 ซึ่งการสอบประกอบด้วยการสอบ 2 ขั้นตอน ดังนี้
1) การสอบตามเกณฑ์สมรรถนะร่วม
2) การสอบตามเกณฑ์สมรรถนะเฉพาะสาขา
และในการสอบแต่ละขั้นตอน มีการสอบ 2 รูปแบบ คือ 1) การสอบความรู้ข้อเขียน และ 2) การสอบทักษะทางวิชาชีพเภสัชกรรม
ทั้งนี้จากข้อมูลผลการสอบความรู้ฯ ของนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 ที่เริ่มใช้การสอบความรู้ฯ ตามเกณฑ์ที่กำหนดนี้ พบว่าร้อยละการสอบผ่านของนักศึกษาไม่ถึงร้อยละ 50 ซึ่งจะส่งผลต่อการรับรองสถาบันการผลิตบัณฑิต ของสภาเภสัชกรรมด้วย
จากปัญหาดังกล่าวคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการความรู้ฯ จึงได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็น “แนวทางการเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาในการสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม” เพื่อถอดเป็นบทเรียน และสังเคราะห์ความรู้ สำหรับเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการเตรียมความพร้อมนักศึกษาเพื่อการสอบวัดความรู้ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เพื่อนำไปปรับใช้ในการจัดโครงการหรือกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับนักศึกษาได้ต่อไป

การเขียนเค้าโครงรายวิชาตามกรอบ AUN QA

คณะกรรมการบริหารหลักสูตร ร่วมกับคณะกรรมการวิจัย บริการวิชาการ และการจัดการความรู้ คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค

คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ เป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลที่ผลิตบัณฑิตให้เป็นบุคคลที่มีวิชาการก้าวหน้า รู้จักพัฒนา คุณธรรมนำใจ รับใช้สังคม ยึดหลักสัจจะ-บริการด้วยน้ำใจไมล์ที่สอง โดยดำเนินการตามภารกิจหลัก 4 ด้าน คือ การเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งด้านการวิจัยได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพให้กับคณาจารย์ของคณะมาอย่างต่อเนื่องด้วยรูปแบบการพัฒนาที่หลากหลาย อาทิเช่น การพัฒนาภายใต้บันทึกความเข้าใจ ข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการ เป็นต้น ประกอบกับมหาวิทยาลัยพายัพ ได้บันทึกความเข้าใจ ข้อตกลงความร่วมมือ กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 โดยมีความร่วมมือภาคีเครือข่ายด้านพยาบาลศาสตร์ และการจัดการศึกษาตลอดชีวิต
คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของคณาจารย์ภายในคณะ ตามแผนการส่งเสริมงานวิจัย และแผนการจัดการความรู้ด้านการผลิตบัณฑิต อีกทั้งเพื่อให้สอดรับกับการดำเนินงานภายใต้บันทึกความเข้าใจ ข้อตกลงความร่วมมือ จึงได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพด้านผลิตบัณฑิต:การเขียนเค้าโครงรายวิชาตามกรอบ AUN QA เพื่อให้คณาจารย์มีความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะในการเขียนเค้าโครงรายวิชาตามกรอบ AUN QA
คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิคมีแนวทางในการกำหนดขอบเขตของการจัดการความรู้ ดังนี้
1. เป็นความรู้ที่สอดคล้องกับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการประจำปีมหาวิทยาลัยพายัพ ปีการศึกษา 2565 ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและสังคม หรือนำไปสู่การสืบสาน สร้างความรู้ความเข้าใจในศิลปวัฒนธรรม โดยการบูรณาการการเรียนการสอน งานวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เป้าประสงค์ที่ 2.1 เพื่อส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยที่หลากหลาย งานวิจัยเชิงสหวิทยาการ และงานวิจัยที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม กลยุทธ์ 2.2.1 ส่งเสริมการผลิตผลงานทางวิชาการที่หลากหลาย งานวิจัยเชิงสหวิทยาการ หรือผลงานนวัตกรรม ตัวชี้วัดแผนกลยุทธ์ 2.1.1 จำนวนผลงานทางวิชาการ ตัวชี้วัดแผนปฏิบัติการระดับมหาวิทยาลัย 15 จำนวนผลงานทางวิชาการ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 บริหารจัดการเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เป้าประสงค์ที่ 5.2 เพื่อให้บุคลากรและผู้บริหารมีความพร้อมและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลยุทธ์ 5.2.1 ส่งเสริมการจัดการความรู้ที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้หรือนวัตกรรมในการพัฒนามหาวิทยาลัย ตัวชี้วัดแผนกลยุทธ์ 5.2.1 จำนวนผลงาน/องค์ความรู้/นวัตกรรมที่พัฒนามหาวิทยาลัย ตัวชี้วัดแผนปฏิบัติการระดับมหาวิทยาลัย 39 จำนวนผลงาน/องค์ความรู้/นวัตกรรมที่พัฒนามหาวิทยาลัย
2. เป็นความรู้ที่สอดรับกับเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายในระดับคณะวิชา ได้แก่ ตัวบ่งชี้ที่ 5.1 การบริหารของคณะเพื่อการกำกับติดตามผลลัพธ์ตามพันธกิจ กลุ่มสถาบันและเอกลักษณ์ของคณะ ข้อ 5 ค้นหาแนวปฏิบัติที่ดีจากความรู้ทั้งที่มีอยู่ในตัวบุคคล ทักษะของผู้มีประสบการณ์ตรง และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ตามประเด็นความรู้ อย่างน้อยครอบคลุมพันธกิจด้านการผลิตบัณฑิตและด้านการวิจัย จัดเก็บอย่างเป็นระบบโดยเผยแพร่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร และนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานจริง
3. เป็นความรู้ที่สำคัญต่อองค์กร โดยปีการศึกษา 2565 มีการปรับการเขียนเค้าโครงรายวิชาตามกรอบ AUN QA ซึ่งคณาจารย์จะได้แนวทางการเขียนไปปฎิบัติในการจัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษีและภาคปฏิบัติต่อไป
คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิคตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของคณาจารย์ จึงได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตบัณฑิต การวิจัย และการจัดการความรู้ เพื่อ
1) ให้อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิคมีแนวทางในการเขียนเค้าโครงรายวิชา
2) พัฒนาศักยภาพด้านการจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์ สอดรับกับแผนพัฒนาบุคลากรของคณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค
3) ดำเนินการด้านการจัดการความรู้ตามแผนปฏิบัติการประจำปีของมหาวิทยาลัยพายัพ และตามเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายในระดับคณะวิชา

การจัดการเรียนการสอนเชิงรุก

คณะกรรมการการจัดการความรู้ คณะมนุษยศาสตร์และนิเทศศาสตร์

ในปีการศึกษา 2565 คณะกรรมการจัดการความรู้ คณะมนุษยศาสตร์และนิเทศศาสตร์ได้ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดหัวข้อตามความต้องการของคณาจารย์ในคณะฯ จากนั้นได้สำรวจความต้องการพัฒนาตนเองด้านการผลิตบัณฑิตของคณาจารย์ในคณะฯ ผ่านระบบ Google Form พบว่า หัวข้อ“การจัดการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning)” เป็นประเด็นที่ถูกเลือกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 64.7 (ดังภาพประกอบด้านล่าง) ซึ่งหัวข้อดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน รวมทั้งยังสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในหมวดที่ 4 แนวการจัดการศึกษา ที่เน้นและให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังปรากฏในหลายมาตรา เช่น มาตรา 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ มาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (2) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา (3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน และเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง (4) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วน สมดุลกันรวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา (5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียนและอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภท ต่าง ๆ (6) จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ นอกจากนี้ ในเกณฑ์การประเมินคุณภาพการศึกษาภายในตามรูปแบบ AUN-QA ซึ่งหลักสูตรต่าง ๆ จะต้องนำเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ ยังมีการกำหนดเกณฑ์ Criterion 3 Teaching and Learning Approach ว่าการจัดการเรียนการสอนจะต้องเป็น Active Learning ในทุกรายวิชา
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้คณะมนุษยศาสตร์และนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก จึงได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบการจัดการความรู้ ในหัวข้อ“การจัดการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning)” เพื่อให้บุคลากรในคณะวิชาเกิดความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริง อันจะนำไปสู่การวางแผนและบริหารจัดการการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งอันจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

การใช้กระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (ACTIVE LEARNING) ในการจัดการเรียนการสอน

คณะกรรมการการจัดการความรู้ วิทยาลัยพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี

จากการที่ปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคริสต์ศาสนศาสตร์ ในปีการศึกษา 2565 รวมถึงการที่มหาวิทยาลัยพายัพกำหนดให้หลักสูตรฯ เป็นหนึ่งในหลักสูตรนำร่องที่จะรับการประเมินคุณภาพการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 ในระบบ AUN-QA ซึ่งมีเกณท์การประเมินระดับหลักสูตรที่ระบุว่า กิจกรรมการเรียนการสอนต้องถูกนำมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม และทุกรายวิชาจะต้องมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (ACTIVE LEARNING) โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองจากกิจกรรมการเรียนการสอนที่ระบุไว้ใน CLOs ซึ่งสอดคล้องกับ PLOs
ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คณาจารย์ทุกคนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ACTIVE LEARNING และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาของตนโดยใช้ ACTIVE LEARNING คณะกรรมการการจัดการความรู้ วิทยาลัยพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี จึงจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “การใช้กระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (ACTIVE LEARNING) ในการจัดการเรียนการสอน”